top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนData Investigator Team

9 เคล็ดลับที่ช่วยให้คุณออกแบบแบบสอบถามอย่างมืออาชีพ


9 เคล็ดลับการออกแบบแบบสอบถามอย่างมืออาชีพ
9 เคล็ดลับการออกแบบแบบสอบถามอย่างมืออาชีพ

การออกแบบแบบสอบถามนั้น นับว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ การออกแบบแบบสอบถามต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีเคล็ดลับใดบ้างที่จะสามารถช่วยให้คุณสามารถออกแบบแบบสอบถามที่ดีได้


1. ตั้งจุดประสงค์ในการทำวิจัยให้ชัดเจน


ก่อนที่จะเริ่มการออกแบบสอบถาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตั้งจุดประสงค์การทำวิจัยให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมายสิ่งที่ต้องการเรียนรู้หรือศึกษาจากผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อมูลใดบ้างที่คุณต้องการที่จะได้รับจากการใช้แบบสอบถามชุดนี้ การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนจะช่วยให้คุณสามารถเลือกคำถามที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องกับความต้องการ


2. ศึกษาบททบทวนวรรณกรรมเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ได้ชัดเจน


จุดประสงค์ของการเขียนบททบทวนวรรณกรรมคือการช่วยให้เรียนรู้ผลการวิจัยอื่นๆ ที่มีมาอยู่ก่อนแล้วและช่วยให้รู้ว่าทฤษฎีใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรา ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการออกแบบแบบสอบ ถามที่ดีมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาบททบทวนวรรณกรรมมีส่วนช่วยในการเขียนหรือออกแบบแบบสอบถามได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การวัดผล การป้องกันการทำซ้ำ ช่วยให้ข้อมูลมีความสอดกล้องและน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังช่วยให้เนื้อหามีความสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย


3. ใช้ภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย


แบบสอบถามที่ดีนั้นควรจะใช้ภาษาที่มีความชัดเจนไม่กำกวมและเข้าใจง่ายโดยที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็น กลุ่มเป้าหมายควรจะเข้าใจเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีความเทคนิคัลเฉพาะทางหรือการใช้ภาษาที่มีความยากต่อการทำความเข้าใจที่อาจจะทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกสับสน


4. หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีความลำเอียงหรือชี้นำ


ผู้วิจัยควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีความลำเอียงหรือมีความชี้นำ เนื่องจากคำถามเหล่านี้ส่งผลให้ได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามความจริงและอาจทำให้ข้อมูลเบี่ยงเบนไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ดังนั้นคุณควรใช้ภาษาที่มีความเป็นกลางไม่ชี้นำเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่สะท้อนสิ่งที่เป็นจริงมากที่สุด


5. ใช้คำถามปลายเปิดเมื่อต้องการข้อมูลละเอียด


การใช้คำถามปลายเปิดจะสามารถช่วยให้คุณได้รับข้อมูลที่ละเอียดขึ้นมากกว่าการใช้คำถามประเภทปลายปิด โดยเราแนะนำว่าคำถามปลายเปิดนั้นควรใช้เมื่อคุณต้องการข้อมูลโดยละเอียดหรือต้องการเรียนรู้ว่านอกจากปัจจัยที่อยู่ในงานวิจัยของคุณแล้วมีปัจจัยใดอีกบ้างที่คุณอาจจะละเลยไป


6. ใช้คำถามแบบสเกลหรือการให้คะแนน


การใช้คำถามแบบสเกลหรือคำถามแบบให้คะแนนคือการให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนความคิดเห็นของพวกเขากับปัจจัยใดๆ หรือข้อความใดๆ โดยคำถามประเภทนี้จะมีประโยชน์และเหมาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติหรือความคิดของผู้ตอบแบบสอบถามต่อปัจจัยต่างๆ อย่างไรก็ตามแนะนำว่าเมื่อคุณใช้ Scale ในการตอบคำถามคุณควรใช้ Scale จำนวนเท่าๆ กันทั้งแบบสอบถาม โดย Scale ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Likert Scale (เช่น เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย เฉยๆ ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง), Semantic Differential Scale (เช่น ดี ไม่ดี) หรือ สเกล ตัวเลข (เช่น การให้คะแนนความปวดตั้งแต่ 1-10) นอกจากนี้คุณควรแน่ใจว่าสเกลที่คุณเลือกใช้ เข้าใจง่ายสำหรับกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามของคุณ นอกจากนี้เพื่อให้ไม่เกิดความสับสนระดับคะแนนที่อยู่ตรงข้ามกันควรใช้ภาษาที่ชัดเจนเหมือนกัน อาทิ เห็นด้วยอย่างยิ่ง และ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง


7. เช็คความถูกต้องและความเข้าใจด้วยการทดลองแบบสอบถาม (Pilot Test)


ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายแบบสอบถามออกไปให้กับผู้ตอบแบบสอบถาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการทดสอบแบบสอบถามกับตัวอย่างกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามก่อนการใช้งานจริง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถทราบถึงปัญหาของแบบสอบถามและสิ่งที่ควรแก้ไขมีอะไรบ้าง จำนวนผู้เข้าร่วมสำหรับการทดลองแบบสอบถามนี้จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับจำนวนกกลุ่มตัวอย่าง ความซับซ้อนของการวิจัยนั้นๆ และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยปกติแล้วจะแนะนำอยู่ระหว่าง 30-40 คน นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองควรจะเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่าง อาทิ มีคุณลักษณะทางประชากร ศาสตร์ที่คล้ายกันหรือมีประสบการณ์ใช้สินค้าหรือบริการคล้ายกันเป็นต้น ถ้าหากกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดสอบนี้มีคุณลักษณะไม่เหมือนกันกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษาอาจส่งผลให้แบบสอบถามที่ใช้ไม่มีความเหมาะสมได้ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ได้รับไม่มีความน่าเชื่อถือ


8. ทดสอบความน่าเชื่อถือของแบบสอบถามก่อนการนำไปใช้จริง


เมื่อได้ข้อมูลจากกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองแล้วขั้นตอนต่อไปคือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าแบบสอบถามที่ใช้นั้นมีคำถามที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อที่จะพัฒนาปรับปรุงแบบสอบถามให้สอดคล้องกัน โดยวิธีที่เลือกใช้โดยกว้างคือการวิเคราะห์ค่าความน่าเชื่อถือด้วย Cronbach’s Alpha การวิเคราะห์นี้จะช่วยให้ผู้วิจัยทราบถึงความสอดคล้องกันของข้อคำถามที่ได้มีการเลือกใช้ โดยจะดูที่ค่าความสัมพันธ์กัน หรือ Correlation ของข้อคำถามที่ใช้เพื่อวัดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ค่า Cronbach’s Alpha ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 0.7 หรือมากกว่า การวัดค่าความน่าเชื่อถือของข้อคำถามที่ใช้ในแบบสอบถามนั้นสามารถช่วยให้ผู้วิจัยทราบว่าในหลายๆ ข้อคำถามนั้นมีข้อคำถามใดที่ไม่เข้าพวกหรือไม่เพื่อให้ผู้วิจัยสามารถพัฒนาแบบสอบถามให้เหมาะสมได้


9. พิจารณาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเลือกใช้


นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้เลยเมื่อออกแบบแบบสอบถามคือการพิจารณาวิธีการวิเคราะห์ ข้อมูลที่จะเลือกใช้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากผู้วิจัยมีต้องการเลือกใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Regression ผู้วิจัยควรจะเลือกใช้คำถามที่จะสามารถทำให้ได้คำตอบที่เป็น Continuous Data แทน Categorical Data หรือควรเป็นเลขจำนวนเต็มแทนที่จะเป็นข้อคำตอบแบบตัวเลือก


สุดท้ายนี้ การออกแบบแบบสอบถามที่มีประสิทธิภาพนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความแม่นยำเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ หวังว่าเคล็ดลับทั้ง 9 ข้อนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังทำวิจัยอยู่นะคะ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณตาติดต่อ:

  • ไลน์: @datainvestigator

  • โทร: 063-969-7944

  • อีเมล์: info@datainvestigatorth.com

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page